อาจารย์คริสตชนในยุคแรกแนะนำวิธีการภาวนาอันบริสุทธิ์ที่เรียบง่ายและปฏิบัติได้ ดังนี้ คือระหว่างการทำสมาธิให้ท่านเลือก
คำๆ หนึ่งหรือวลีสั้นๆ และกล่าวคำหรือวลีนั้นซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ- - -ซึ่งคำนี้เป็นที่เรียกกันว่า “มันตรา”- -- ให้กล่าวคำนี้ซ้ำไปซ้ำมา
ในสมองและในใจของท่านอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาการทำสมาธิ การกล่าวคำพูดซ้ำๆ ง่ายๆนี่แหละจะช่วยนำท่านออกจาก
ความคิดไปสู่หัวใจออกจากความกระวนกระวายไปสู่ความสงบสุข ออกจากการขาดสมาธิ (Distraction) ไปสู่ภาวะใน
“ขณะปัจจุบัน” (the present moment) การกล่าวคำพูดนี้จะสร้างทางแคบๆ แห่งความเงียบให้ท่านเดินตาม ฝ่าเสียงดัง
ต่างๆ ฝ่าความวอกแวกความกระวนกระวาย และฝ่าความสับสนของความคิดต่างๆ ไป จำไว้ว่าพระเยซูเจ้าตรัสเกี่ยวกับวิถี
ทางสู่ชีวิตว่า “ทางไปสู่ชีวิตเป็นทางที่แคบ และน้อยคนที่พบทางนี้”

ฉะนั้นการกล่าวคำของท่านนี้จึงเป็นหลักการฝึกปฏิบัติตนที่สำคัญ จำเป็น และเป็นศิลป์ของการทำสมาธิ ให้ท่านนั่งลง
นั่งให้นิ่ง นั่งเงียบๆ กฎข้อแรกของท่านั่ง คือให้นั่งหลังตรง ซึ่งจะช่วยให้ท่านไม่หลับ และตื่นตัวอยู่เสมอ จากนั้นท่านจะกล่าว
“มันตรา” ของท่านเบาๆ ภายในใจซ้ำไปซ้ำมา ให้กล่าวคำนี้โดยไม่ขยับริมฝีปากหรือลิ้น

การเลือกคำเป็นสิ่งสำคัญ เพราะท่านจะใช้คำเดียวนี้ตลอดช่วงเวลาการทำสมาธิและทุกครั้งที่ทำสมาธิ ให้ทำสมาธิ
ทุกเช้าและเย็น ครั้งละประมาณครึ่งชั่วโมง และให้ใช้คำเดียวกันนี้ทุกครั้ง การยึดมั่นในคำนี้จะช่วยให้คำนี้จมลงใน
สติสัมปชัญญะระดับลึกลงไปทีละน้อย จมลงไปสู่ใน “หัวใจ” โดยที่เราไม่รู้ตัว - - - ด้วยเหตุนี้ การเลือกคำจึง
สำคัญ ท่านอาจจะใช้คำว่า “เยซู” ซึ่งเป็น “มันตรา” ที่ใช้ในภาวนาของคริสตชนในยุคโบราณหรือท่านอาจใช้คำว่า
“อับบา” ซึ่งเป็นคำที่งดงามที่พระเยซูเจ้าทรงทำให้ศักดิ์สิทธิ์ในบทภาวนาของพระองค์เอง คำที่ข้าพเจ้าขอแนะนำ
และเป็นคำที่คุณพ่อยอห์น เมน แนะนำคือ “มารานาธา” (Maranatha)


“มารานาธา” เป็นคำภาวนาที่เก่าแก่ที่สุดของคริสตชนแปลว่า “เชิญเสด็จมาเถิด พระเจ้าข้า” เป็นคำภาษา
อาราเมอิก ซึ่งเป็นภาษาที่พระเยซูเจ้าทรงใช้พูด นักบุญเปาโลใช้คำนี้ปิดท้ายจดหมายของท่านถึงชาวโครินธ์
ฉบับที่หนึ่ง ถ้าท่านเลือกคำนี้ จงกล่าวคำออกเป็น 4 พยางค์ คือ “มา-รา-นา-ธา” และเปล่งคำนี้อย่างชัดเจน
ในใจของท่าน ฟังคำนี้เมื่อท่านเอ่ยออกมา อย่าคิดถึงความหมายของคำ การทำสมาธิ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ท่านจะคิด
ในระหว่างการทำสมาธิ จงปล่อยความคิดทั้งหมดออกไปแม้แต่ความคิดที่ดีหรือความเข้าใจฝ่ายจิต
(Spiritual insight) ก็ตาม ถามว่าท่านจะปลดปล่อยความคิดทั้งหลายได้อย่างไร ? ก็โดยการกลับมาหา “มันตรา”
ของท่านทันทีที่ท่านรู้ตัวว่าใจของท่านกำลังวอกแวกไปกับความคิดความกังวลต่างๆ และนี่คือความหมายของ
คำว่า การฝึกปฏิบัติ “ความยากจนฝ่ายจิต” (Poverty in spirit) - - - หมายถึง “การปลดปล่อยหรือปล่อยวางจาก
ทุกสิ่ง” (Letting go of everything) พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ผู้ที่มีใจยากจนย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ครอบครอง
อาณาจักรของพระเจ้า”
วิธีที่เราฝึกปฏิบัติ “ความยากจนฝ่ายจิต” นี่ (- - - หรือการปล่อยวางซึ่งเป็น “อิสรภาพ”
อันน่าพิศวงที่ได้รับจากความยากจนฝ่ายจิต- - -) ก็โดยการการกลับมาหาคำ “มันตรา” นี้ อย่างมุ่งมั่นและอย่าง
ซื่อสัตย์ ฉะนั้นจำไว้ จงกล่าวคำ “มันตรา” นี้อย่างนุ่มนวลเบาๆ ไม่ต้องออกแรง แต่ให้กล่าวอย่างซื่อสัตย์และ
ให้หันกลับมาหาคำนี้ทันทีที่ท่านรู้ตัวว่าท่านได้หยุดกล่าวคำนี้

เมื่อท่านเริ่มต้นทำสมาธิ ถ้าท่านสามารถนั่งได้สัก 2 หรือ 3 วินาที ก็ต้องนับได้ว่าท่านโชคดีมากแล้วก่อนที่
สมองท่านจะถูกรุมเร้าด้วยเรื่องในอดีต หรืออนาคต หรือเริ่มเพ้อฝันหรือฝันกลางวันหรือจินตนาการคำสนทนา
ต่างๆ หรือความกลัวหรือความกังวลใจเล็กๆ น้อยๆ จะเริ่มเข้ามาในความคิดของท่านหรือเริ่มวางแผนงาน
ที่ท่านจะทำต่อไป

ด้วยพระหรรษทานของพระเจ้า นี่คือความลี้ลับอันยิ่งใหญ่ของจิตสำนึก (Consciousness) - - -ที่ท่านรู้ตัว
ในความจริงที่ว่าท่านกำลังขาดสมาธิเพราะใจท่านได้วอกแวกออกไป และที่ท่านรับรู้เช่นนี้ได้ก็เพราะพระจิตเจ้า
ทรงกำลังภาวนาอยู่ในตัวท่านด้วยนั่นเอง ฉะนั้นทันทีที่ท่านตระหนักว่าท่านได้หยุดกล่าว “มันตรา” จงอย่าเสียเวลา
วิเคราะห์หรือรู้สึกผิด หรือคิดว่าตนเองล้มเหลวในการทำสมาธิ แต่จงหันกลับมาเริ่มต้นกล่าว “มันตรา” อีกครั้งหนึ่ง
ด้วยวิธีนี้เราจะปรับตัวตนส่วนลึกที่สุดของเราให้เคลื่อนไหวอย่างสอดคล้องกับพระจิตเจ้า ดังนั้น จงหยุดคิดประเมิน
ถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการทำสมาธิ เป็นธรรมดาที่ “อัตตา” ของท่านจะบอกท่านว่า
“เธอทำไม่ได้เรื่อยเลย เสียเวลาเปล่าๆ เธอไม่มีความสามารถที่จะทำสมาธิได้ดีหรอก ลองวิธีอื่นที่จะทำให้เธอมี
ความพอใจได้มากกว่านี้ดีกว่า อะไรก็ได้ที่จะให้ความรู้สึกสาสมแก่ใจได้เร็วกว่านี้ได้” เมื่อท่านได้ยินเสียง “อัตตา”
เช่นนี้ จงขับไล่มันไปเสีย - - - “ไปเสียเถิด อย่ามายุ่งกับฉัน”

ดังนั้นจงพยายามตัดขาดจากการยึดติดอยู่กับเรื่องความล้มเหลวหรือความสำเร็จ เพราะการยึดติดอยู่กับเรื่องความ
ล้มเหลวหรือความสำเร็จนั้น มันเป็นปัญหาของเรื่อง “อัตตา” (Ego) ของเราทันทีที่รู้ตัวว่าท่านได้หยุดกล่าว
“มันตรา” ท่านไม่ต้องเสียเวลาประเมินผลงานของท่านว่าท่านทำได้ดีแค่ไหน ท่านเพียงแต่ ‘มันตรา’ ด้วย
‘ความซื่อสัตย์และเรียบง่าย’ (Simplicity) และความสุภาพถ่อมตน (Humility) เหมือนเด็ก”การฝึกวินัยเช่นนี้ จะสอนท่านโดยตรงถึงความหมายของพระวาจาของพระเยซูเจ้าที่ว่า “ถ้าท่านไม่กลายเป็นเด็กเล็กๆท่านจะไม่
สามารถเข้าพระอาณาจักรของพระเจ้าได้” บางครั้งคนจะมองหาวิธีทำสมาธิที่สลับซับซ้อน แต่แท้จริงแล้ว
วิธีปฏิบัติที่บริสุทธิ์และเรียบง่าย (Simplicity) นี่แหละที่ความล้ำลึกของการดำรงอยู่จะเผยให้เห็น

ถ้าท่านกำลังคาดหวังหรือมองหาประสบการณ์ที่ลึกลับจากการทำสมาธิละก็ จงอย่าคิดหรือมองหาว่าจะมีอะไรเกิด
ขึ้น คุณพ่อยอห์นเมนเคยบอกว่า “ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น ก็อย่าไปสนใจมัน และถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็ควรจะรู้สึก
ขอบคุณ” ที่จริงแล้ว มีความล้ำลึกซ่อนอยู่ในคำพูดนี้ ทันทีที่ท่านฝึกปฏิบัติสมาธิ - - -ด้วยวิธีที่บริสุทธิ์และ
เรียบง่ายนี้ (Simplicity) - - - ความลึกลับอันยิ่งใหญ่ของการดำรงอยู่จะเผยให้เห็น ดังนั้น คำสอนขั้นต้นก็คือ
“ความซื่อสัตย์และเรียบง่าย” นั่นเอง ไม่ว่าท่านจะฝึกมาแล้วเป็นปีๆ หรือฝึกๆ หยุดๆ หรือเพิ่งเริ่มฝึกเราทุกคน
กำลังเริ่มต้นที่จุดเดียวกัน เราทุกคนเป็นผู้เริ่มต้น เราทุกคนอยู่ที่นี่ (HERE) ณ เวลานี้ (NOW)
เราทุกคนกำลังเริ่มต้นก้าวไปบนเส้นทางเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง